Article

นมโรงเรียน โกงตรงไหน ใครโกง

โดย ดร.มานะ นิมิตรมงคล โพสเมื่อ Jul 07,2023

 “นมโรงเรียน” โกงตรงไหน? ใครโกง ?

.
“นมโรงเรียนคุณภาพดีเหมือนนมที่ขายทั่วไปหรือไม่?”
ผู้บริหารโรงเรียนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ยังโกงนมเด็กอยู่ไหม?
ทำอย่างไร นมบูด นมปลอมปน จะหมดไป? แล้วยังมี “นมกระดาษ” โผล่มาอีก
.
สารพันปัญหานมโรงเรียน แต่ปัญหาใหญ่ที่ต้องเร่งแก้ไขวันนี้คือ “นายทุน” บางรายกลายเป็น “มาเฟีย” ครอบงำอุตสาหกรรมนมของชาติ !
.
#คอร์รัปชันนมโรงเรียน” สะท้อนให้เห็น “กลโกง” ที่ปรับตัวตามกลไกและนโยบายของรัฐ และ กลไกตลาดนมโรงเรียนที่จูงใจผู้ประกอบการต้องเข้ามาแย่งชิงตลาดนี้ แน่นอนว่า รัฐและประชาชนยังคงเป็นผู้เสียหายอยู่เช่นเดิม
.
1. ทำไมต้องแย่งกันขายนมโรงเรียน ? และ นมกระดาษ คืออะไร ?

ประเทศไทยมีผลผลิตน้ำนมดิบ 3,300 ตันต่อวัน กระจายสู่ตลาด 3 กลุ่มคือ
1. นมโรงเรียน ปริมาณ 1,100 ตัน/วัน
2. นมพาณิชย์หรือนมที่วางขายทั่วไป
3. นมเพื่อการนำเข้านมผงจากต่างประเทศ (ประเทศไทยผลิตนมผงไม่ได้ แต่เพื่อปกป้องผู้เลี้ยงโคนมในประเทศ รัฐจึงกำหนดให้ผู้นำเข้านมผงจากต่างประเทศ ต้องผลิตหรือซื้อน้ำนมดิบเพื่อเป็นฐานคิดสัดส่วน น้ำนมดิบ: นมผงนำเข้า = 20:1 คิดเป็นน้ำหนัก)

“นมโรงเรียน” เป็นตลาดเดียวที่มี “ระบบโควตา” ตามนโยบายรัฐ ผู้ถือโควตาจึงมีตลาดแน่นอนในราคาที่รัฐรับซื้อ รู้ชัดเจนและวางแผนได้ง่ายว่าต้องส่งของที่โรงเรียนไหน จำนวนเท่าไหร่ในแต่ละวัน ไม่มีต้นทุนโฆษณาหรือความเสี่ยงจากการแข่งขันในตลาดใดๆ เลย

นับเป็นข้อได้เปรียบที่ทุกฝ่ายต้องการเพื่อความมั่นคงและโอกาสขยายไปครอบงำตลาดนมพาณิชย์และนมเพื่อนำเข้านมผงต่อไป
“นมโรงเรียน” ใช้งบประมาณปีละ 1.4 หมื่นล้านบาทเพื่อรองรับเด็กทั้งระบบกว่า 6.7 ล้านคน รัฐบาลให้เงินอุดหนุนผ่านองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เป็นผู้จัดซื้อ แล้วส่งมอบให้โรงเรียนในพื้นที่ของตนด้วยราคา 6.89 – 8.13 บาทต่อถุง/กล่อง จำนวน 260 - 280 ถุง/กล่อง ต่อคนต่อปี

โรงเรียนจะแจกนมพาสเจอร์ไรส์หรือนมถุงให้เด็กดื่มที่โรงเรียน และแจกนมยูเอชทีหรือนมกล่องในช่วงวันหยุดหรือปิดเทอม

“นมโรงเรียน” เป็นนมที่ถูกกำหนดมาตรฐานสารอาหารและปราศจากการปนเปื้อนไว้สูงกว่า “นมพาณิชย์” ทั่วไป แต่ที่ผ่านมาปัญหา “นมบูด” มักเกิดจากการขนส่งและจัดเก็บไม่เหมาะสมของผู้ผลิตหรือโรงเรียนก่อนแจกจ่ายให้เด็ก ขณะที่ “นมเจือจาง” หรือ “นมผสมนมผง” เกิดจากความไม่ซื่อสัตย์ของผู้ผลิตบางรายและเจ้าหน้าที่ไม่ดูแล

ทุกวันนี้มีนมโรงเรียนวางขายตามตลาดนัดและทางออนไลน์ ราคาลังละ 232 – 260 บาท มี 36 กล่อง ขนาด 200 มล. ขณะที่นมพานิชย์ทั่วไปราคาอยู่ที่ 339 – 350 บาทต่อลัง ราคาซื้อขายจะถูกหรือแพงขึ้นอยู่กับจำนวนนมที่ผู้ขายมีอยู่ สั่งซื้อมากหรือน้อย ระยะเวลาที่เหลือก่อนนมหมดอายุ

ในปี 2559 ปรากฏข่าวคนไทยนำนมโรงเรียนไปขายในประเทศกัมพูชา มูลค่ากว่า 100 ล้านบาท ต่อมาผู้ค้านมอธิบายว่าเป็นสินค้าที่พวกเขาผลิตเผื่อไว้เกินจำนวน!!

นมเหล่านี้มาจากไหน? คำตอบที่เปิดเผยมีอย่างน้อย 3 แหล่งที่มา
1. โรงงานผู้ผลิต เป็นนมที่เหลืออายุบริโภคไม่ถึง 4 เดือน โดยเฉพาะในช่วงโควิด ไม่มีการแจกนมพาสเจอร์ไรส์ ผู้ผลิตต้องแปรรูปเป็นนมยูเอชที ทำให้มีของจำนวนมาก
2. คนในโรงเรียน เป็นนมเหลือเพราะนักเรียนไม่ดื่ม ส่วนเกินจากการแจกจ่าย หรือมี “บัญชีผี”
3.ผู้ปกครองนักเรียน นำนมยูเอชทีที่โรงเรียนแจกยกลังสำหรับช่วงปิดเทอมออกมาขาย
.
แล้ว “นมกระดาษ” ล่ะ ?
“นมกระดาษ” หมายถึง นมที่เกิดการซื้อขายใบเสร็จโดยไม่ได้มอบส่งนมจริง ตัวอย่างเช่น บางโรงเรียนมีโควตานมวันละ 1,000 กล่อง เด็กดื่มจริงเป็นประจำแค่ 400 กล่อง โรงเรียนจึงให้ผู้ขายจัดส่งแค่ 400 กล่อง แต่ออกใบเสร็จเต็มจำนวน 1,000 กล่อง
เงินส่วนต่างที่เกิดขึ้นโรงเรียนได้ 70% เอาไปซื้อนมยี่ห้อดังรสอร่อยมาแจกเด็กของตนหรือเก็บไว้ ส่วนคนขายได้ 30% แล้วเก็บนมของตนไว้ขายต่อ
 
2. ระบบโควตา จุดเริ่มคอร์รัปชันและการผูกขาด

การจัดสรรโควตาทำโดย คณะกรรมการอาหารนมเพื่อเด็กและเยาวชน (คณะกรรมการนมโรงเรียน) แบ่งเป็น 5 กลุ่มแยกออกเป็น 9 พื้นที่ ด้วยเหตุผลเช่น เพื่อแก้ปัญหาโลจิสติก ลดต้นทุนขนส่ง ลดการขายตัดราคา และควบคุมคุณภาพนม

การจัดสรรนี้ส่งผลให้ผู้ได้รับโควตาได้รับการยืนยันว่า ในแต่ละวันตนมียอดขายวันละเท่าไหร่ พร้อมระบุพื้นที่ โรงเรียนและจำนวนนมสำเร็จรูป ด้วยราคาที่รัฐกำหนดไว้

ในปี 2566 มีผู้ประกอบการ 110 รายได้รับโควตา จากผู้เสนอขอทั้งสิ้น 121 ราย ปัจจุบันมีการร้องเรียนเรื่องความไม่เป็นธรรมและคอร์รัปชันในการจัดสรรโควตาต่อ ป.ป.ช. ป.ป.ท. กระทรวงเกษตรฯ และอีกหลายหน่วยงาน ด้วยหลายเหตุผล เช่น
1. คกก. นมโรงเรียน กำหนดกติกาจัดสรรโควตาที่เอื้อประโยชน์พวกพ้อง มีการใช้ดุลพินิจไม่เป็นธรรม
2. ผู้ได้โควตาบางรายไม่มีแหล่งผลิตนมสดหรือเครือข่ายเกษตรกรจริง หรือมีน้อยกว่าที่แจ้ง เมื่อหน่วยราชการออกสำรวจก็จะว่าหลอกว่ามีของมากโดยซื้อนมจากที่อื่น ที่เรียกว่า กองนมปลอมหรือนมผี และอาจติดสินบนเจ้าหน้าที่อีกทางหนึ่งเพื่อความมั่นใจ
3. ผู้ผลิตรายใหญ่ใช้วิธี “แตกลูก” เป็นบริษัทหรือสหกรณ์รายย่อยหรือนมมหาวิทยาลัย เพื่อเพิ่มโอกาสครองโควตา ทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมและปิดโอกาสเกษตรกรรายอื่น
4. ปี 2566 องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) ภาคกลาง ถูกตัดโควตานม 49 ตันต่อวันจากที่เคยได้ปีที่แล้ว เพราะถูกตรวจเจอเชื้อแบซิลลัสในน้ำนมดิบ แต่หลายฝ่ายเชื่อว่า อ.ส.ค. รัฐวิสาหกิจเก่าแก่ถูกจัดฉากวางยาเพื่อยึดเอาโควตาไป อีกทั้งโควตาที่ยึดไปแล้วแทนที่จะนำไปจัดสรรให้สหกรณ์หรือเอกชนที่ได้โควตาน้อยเพื่อกระจายโอกาส กลับถูกแบ่งตาม “สัดส่วนที่ได้รับไปแล้ว” ทำให้รายใหญ่ได้เปรียบมากขึ้นอีก
 
3. คอร์รัปชันและกลไกรัฐที่บิดเบี้ยวขาดประสิทธิภาพ

“สหกรณ์และเอกชนที่ไม่มีเส้นสายมักยอมจ่ายเงินผ่านล็อบบี้ยิสต์หรือคนกลาง เพื่อให้ได้โควตา จำนวนนมสำเร็จรูปและพื้นที่ที่ต้องการ เคลียร์ทุกปัญหารวมทั้งคุณภาพนม” ผู้บริหารสหกรณ์แห่งหนึ่งให้ข้อมูล

ขณะที่สหกรณ์ขนาดเล็กที่อาศัยคนกลางวิ่งโควตาและจัดส่งนมอาจยอมให้เขาบวกค่าขนส่งจากเฉลี่ย 40 - 50 สตางค์ขึ้นไปเป็น 1 บาทต่อหน่วย ค่าบรรจุภัณฑ์บวกเพิ่ม 20 สตางค์ ทำให้ต้นทุนสูงขึ้นกำไรน้อยลง

เห็นได้ว่า คอร์รัปชันและกลไกรัฐที่บิดเบี้ยวขาดประสิทธิภาพ จึงเป็นปัจจัยหลักที่บีบให้เกษตรกรโคนมตัวจริงเสียโอกาส ขาดประโยชน์ เต็มไปด้วยคนกลางนายหน้า ขณะที่ขาใหญ่ไม่กี่รายกลายเป็น “มาเฟียนม” ที่มีอิทธิพลครอบงำตลาดนมทั้งระบบได้เข้มข้นขึ้นตลอดเวลา

.
1. อปท. และโรงเรียนต้องเข้มงวดเรื่องการส่งมอบ รับมอบและจัดเก็บนมเสมอ
2. กติกาพิจารณาโควตา ต้องทำประชาพิจารณ์ให้ผู้เกี่ยวข้องรับรู้และยอมรับ การตัดสินต้องเปิดเผยเป็นธรรม ยึดกฎเกณฑ์และข้อตกลงอย่างเคร่งครัด
3. ควรพิจารณาว่า การเปิดตลาดเสรีเพื่อแก้ปัญหาโควตาไม่เป็นธรรมและการผูกขาดจะทำได้อย่างไรการแข่งขันเสรีจะทำให้โรงเรียนได้รับบริการที่ดีขึ้น ราคานมอาจถูกลง แต่เพิ่มความเสี่ยงเช่น เกิดการตัดราคา ฮั้วประมูล ลดคุณภาพนม การติดสินบน เพิ่มภาระ อปท. และโรงเรียน ฯลฯ
4. คกก. นมโรงเรียน ต้องทำงานอย่างเปิดเผย โปร่งใส สร้างการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสียมากขึ้น
มีประเด็นน่ากังวลมาก ว่ามีการให้ข้อมูลจากบุคลากรกระทรวงเกษตร ว่า ปัจจุบันมีแนวโน้มน้ำนมดิบขาดแคลนจนอาจต้องนำเข้าผลิตภัณฑ์นมจากต่างประเทศ ซึ่งขัดแย้งกับรายงานของกระทรวงพาณชย์ที่ชี้ว่า ประเทศไทยมีน้ำนมเกินบริโภค ต้องเร่งขยายการบริโภค เพราะนี่อาจทำสร้างความความเสียหายจากการกำหนดนโยบายสาธารณะและอาจเกิดคอร์รัปชันเชิงนโยบายที่เอื้อประโยชน์คนบางกลุ่ม
ดร. มานะ นิมิตรมงคล
เลขาธิการ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)